ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดีย
ขนาดเศรษฐกิจ
อินเดียเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) (Power Purchasing Parity –PPP) สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลกว่า 1.2 พันล้านคน ทำให้อินเดียยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (Lower-middle-income economy) ตามการแบ่งกลุ่มประเทศของธนาคารโลกในปีงบประมาณ 2557-58 โดยใช้รายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income – GNI) ต่อหัวเป็นเกณฑ์ คือมี GNI ต่อหัวระหว่าง 1,046-4,125 ดอลลาร์สหรัฐ
โครงสร้างเศรษฐกิจ
หากพิจารณาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจอินเดียที่มีพื้นฐานอยู่บนกิจกรรมในสาขาบริการ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66 ของ GDP ขณะที่การเกษตรและอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 17 ของ GDP เท่ากัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาที่อินเดียได้กลายเป็นแหล่งการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางให้บริการ Call Centre และศูนย์กลางด้านไอทีของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การเกษตรยังคงเป็นสาขาที่จ้างงานสูงสุดในระบบเศรษฐกิจถึงประมาณร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการใช้แรงงานร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ (ตัวเลขปีงบประมาณ 2556-57)
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจอินเดีย
แม้ภาพของความยากจนยังมีให้เห็นมากในอินเดีย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียได้พัฒนาไปอย่างมากนับตั้งแต่อินเดียเริ่มเปิดประเทศภายหลังสงครามเย็นและได้พยายามส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติในกิจการไฟฟ้า พลังงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้เปิดเสรีโทรคมนาคมและการสื่อสารในปี 2543 ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเศรษฐกิจอินเดียเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2548-2553 โดย GDP เติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 8.5 โดยขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 10.3 ในปี 2553 ประกอบกับจำนวนประชากรชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนานาชาติ
ในช่วงที่เริ่มมีกระแสความนิยมทางการค้าและการลงทุนหลั่งไหลสู่ภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลอินเดียตั้งแต่ยุคพรรครัฐบาลคองเกรส (ปี 2547-2557) จนถึงชุดปัจจุบันได้พยายามเร่งการปฏิรูประบบโครงสร้างต่างๆ เพื่อรองรับการค้าการลงทุนและเพื่อก่อให้เกิดเสถียรภาพที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านสาธารณูปโภค การศึกษา ความมั่นคงทางสังคม การปรับโครงสร้างของภาครัฐ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การขยายฐานภาษี และการพัฒนาในส่วนภูมิภาคและภาคการเกษตร นอกจากนี้ การลงทุนทั้งในอุตสาหกรรม การค้า และบริการ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่อินเดียมีนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากอินเดียมีข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนแรงงานที่มีอยู่มหาศาล มีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 12 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเป็นจำนวนมาก และมีความได้เปรียบทางด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีค่าจ้างแรงงานที่ถูก ทำให้บริษัทต่างชาติสนใจมาตั้งฐานการผลิตที่อินเดียอย่างกว้างขวาง
รัฐบาลอินเดียยังได้ผ่อนปรนข้อบังคับหลายๆ อย่าง เช่น ลดการจำกัดประเภทของการลงทุน และเพิ่มมูลค่าผลกำไรที่สามารถส่งกลับประเทศได้ การก่อสร้างขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2547 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงสาธารณูปโภครวมมูลค่าประมาณ 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาถนนสายสำคัญทั่วประเทศ ปรับปรุงเส้นทางรถไฟ และระบบขนส่งมวลชน ขยายเครือข่ายโทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ก่อสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานเพิ่มเติม เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอินเดีย นอกจากนั้น รัฐบาลอินเดียยังได้พยายามออกมาตรการที่เอื้อให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนโดยตรงได้ง่ายและสะดวกขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ขยายเพดานให้ต่างชาติสามารถลงทุนโดยตรงได้ร้อยละ 100 ในหลายสาขา เช่น กิจการท่าอากาศยาน กิจการโทรคมนาคม การวางโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับปิโตรเลียม (เช่นการวางท่อขนส่งน้ำมันและกาซธรรมชาติ) การค้าพลังงาน (power trading) การลงทุนในเหมืองเพชรและถ่านหิน การผลิตและจัดเก็บกาแฟ และยางพารา อีกทั้งยังเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนโดยตรงในกิจการค้าปลีกที่ขายสินค้าเพียงตราเดียว (single brand ) ได้ถึงร้อยละ 51 เป็นครั้งแรก เช่น Sony Reebok Louis Vuitton เป็นต้น
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน
รัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายนเรนทร โมดี ให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนชีพให้กับเศรษฐกิจอินเดียมากที่สุด โดยมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยได้ริเริ่มแคมเปญ Make in India เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของความเป็นประเทศที่ต้อนรับนักลงทุนโดยการปูพรมแดง (red carpet) ให้นักลงทุนไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าในอินเดีย แทนภาพลักษณ์เดิมของระบบราชการที่เป็นอุปสรรคของนักลงทุน (red tape) นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบภายในเพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดนำระบบภาษีเดียว (GST) มาใช้ การปรับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดระเบียบการคลังภาครัฐ เช่น ลดการอุดหนุนสินค้าและตั้งเป้าลดการขาดดุลบัญชีงบประมาณเหลือร้อยละ 4.5 ของ GDP รวมถึงการปรับปรุงกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับต่างประเทศให้เอื้อต่อการลงทุนขณะเดียวกันมีความรัดกุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอินเดียมากขึ้น
สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
สถานะทางเศรษฐกิจของอินเดียในปัจจุบัน (ปี 2557) ถือว่าอยู่ในช่วงปลายของการชะลอตัว หลังจากที่อัตราการเติบโต GDP ที่เคยสูงสุดในปี 2553 ชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 5-6 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นทั้งตลาดสินค้าและแหล่งเงินทุนที่สำคัญของอินเดีย โดยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นอินเดียต้อยเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนาหลายประการ อาทิ 1) โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะ เป็นถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ 2) การขาดแคลนพลังงาน 3) ความล่าช้าในการผ่อน คลายกฎระเบียบการค้าการลงทุน และ 4) อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อของอินเดียในปี 2553 สูงถึงร้อยละ 12 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในปี 2556 ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2556) เนื่องจาก 1) ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง 2) ราคาสินค้าโลกทั่วไปที่ลดลงโดยเฉพาะน้ำมัน (น้ำมันคิดเป็นร้อยละ 37 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด) 3) สภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และ 4) การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียที่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็นระยะและมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบาย flexible inflation targeting เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
แนวโน้มเศรษฐกิจ
รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า การเติบโต GDP ในปี 2557-58 จะยังคงเติบโตอย่างช้าๆ อยู่ที่อัตราร้อยละ 5.4-5.9 และจะยังคงไม่หวือหวาในช่วงต่อไป เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 1) นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะเห็นผล 2) การเติบโตที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของอินเดีย 3) ธนาคารกลางอินเดียยังไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เนื่องจากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ และ 4) ฤดูมรสุมที่ผิดปกติทำให้ผลิตผลการเกษตรอาจลดลง
ปรับปรุงล่าสุด มกราคม 2558