การแถลงแผนงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2018 – 2019 ของรัฐบาลอินเดีย
การแถลงแผนงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2018 – 2019 ของรัฐบาลอินเดีย
ด้วยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 นาย Arun Jaitley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดียได้แถลงแผนงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2018-19 ต่อสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) อินเดีย ซึ่งนับเป็นการแถลงแผนงบประมาณประจำปีเป็นปีที่ 5 ของรัฐบาลของ นรม. นเรนทร โมดี และเป็นปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2019 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายการบริหารประเทศของ นรม. โมดี ดังนี้
1. ภาพรวมงบประมาณ ปี ค.ศ. 2018 – 2019
ประมาณการงบประมาณ ทั้งสิ้น 21.57 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 10.68 ล้านล้านบาท (ไทยมีงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท) มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1 แสนล้านรูปี โดยประเมินขาดดุลงบประมาณ ไว้ที่ร้อยละ 3.3 ของ GDP ทั้งนี้ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี GST ทำให้มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเสียภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 8.51 ล้านคน ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีทางตรง (direct tax) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และภาษีทางอ้อม (indirext tax) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
2. สาระสำคัญ
งบประมาณฉบับใหม่สะท้อนแนวโน้มการพัฒนาศักยภาพของประเทศในสาขาต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายหลัก 5 ประการ ดังนี้
2.1 ภาคเกษตรและเศรษฐกิจชนบท
(1) ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง เข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้า โดยประกาศนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรขั้นต่ำ การทุ่มงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านรูปีจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรชุมชน 22,000 แห่งทั่วประเทศ การขยายสิทธิการใช้บัตรเครดิตเกษตรกร (Kisan Credit) ให้ครอบคลุมสาขาการเกษตรที่กว้างขวางขึ้น และให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่กลุ่มธุรกิจการเกษตร เป็นต้น
(2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มคุณภาพการขนส่งสินค้าเกษตร และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ โดยมีโครงการที่น่าสนใจ เช่น การจัดตั้งแหล่งผลิต ขนส่ง เก็บรักษา และจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแบบครบวงจร (Operation Green) ทั่วประเทศ และการเพิ่ม งปม. ให้แก่กระทรวงแปรรูปอาหาร (Ministry of Food Processing) เป็นสองเท่า
2.2 การศึกษา สุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม
(1) ด้านการศึกษา มุ่งกระจายโอกาสการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมชนชั้นล่าง และเน้นการใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงการสร้างบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และการจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มจำนวนโรงเรียนในชนบทโดยมีเป้าหมายให้ชนชั้นล่างและชนเผ่าได้เรียนหนังสือในท้องถิ่น การให้ทุนการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนกลับมาเป็นครูในชนบท การเปลี่ยนระบบการสอนเป็นแบบดิจิตัล (From black board to digital board) และแผนจัดตั้งโรงเรียนผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานโดยคัดเลือกนักเรียนที่โดดเด่นให้ศึกษาต่อในสถาบันทางวิทยาศาสตร์ของอินเดียเพื่อป้องกันภาวะสมองไหล (brain drain) เป็นต้น
(2) ด้านสุขภาพ ถือว่าเป็นนโยบายที่โดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในแผนงบประมาณใหม่ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายให้บริการด้านสุขภาพพื้นฐานแก่ผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงโดยเพิ่มวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนแบบก้าวกระโดด และเพิ่มวิทยาลัยการแพทย์ทั่วประเทศ 24 แห่งเพื่อสร้างบุคคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ โดยประกาศสองโครงการหลัก คือ การจัดตั้งศูนย์สุขภาพ 1.5 แสนแห่งทั่วประเทศเพื่อให้คำปรึกษาและจ่ายยาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งให้บริการด้านสุขภาพพื้นฐานแบบครบวงจร และการจัดตั้งโครงการคุ้มครองสุขภาพโดยจัดสรรวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลให้ครอบครัวละ 5 แสนรูปี/ปี (จากเดิมจัดสรร 3 หมื่นรูปี/ปี) ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนกว่า 100 ล้านคน ทั้งนี้ รมต. คลัง อด. แสดงเจตนารมย์เดินหน้าสานต่อโครงการด้านสุขภาพเพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ในอนาคตต่อไป
(3) การคุ้มครองทางสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนมีบัญชีธนาคารและเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ โครงการสำคัญ เช่น เพิ่มการเปิดบัญชีธนาคารให้คนจนอีกกว่า 600 ล้านบัญชี ขยายแผนประกันสุขภาพและแผนบำนาญผ่านการเปิดบัญชี และจัดสรรงบประมาณ กว่า 520 ล้านรูปีเพื่อดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในสังคมให้แก่ชนชั้นล่าง เป็นต้น
2.3 การจ้างงานและส่งเสริม MSME
โดยสานต่อนโยบายกระตุ้นการจ้างงานผ่านการอุดหนุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างลูกจ้างเพิ่ม การอำนวยความสะดวกการกู้ยืมเงินเพื่อริเริ่มทำธุรกิจ MSME การสนับสนุนใช้เทคโนโลยี FinTech เพื่อกระตุ้นการเติบโตของ MSME และให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบการชั่วคราว โดยโครงการที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นความต่อเนื่องของนโยบายการสร้างงาน และกระตุ้นการลงทุนจากชนชั้นกลางโดยใช้กลไกด้านเทคโนโลยี
2.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคการเงิน
(1) สานต่อโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมโยงภายในประเทศ โครงการที่สำคัญ เช่น การสร้างถนนหลวงระยะทางกว่า 9,000 กม. ให้เสร็จสิ้นภายในปี ค.ศ. 2018 และเชื่อมโยงภาคตะวันออกและตะวันตกของอินเดียด้วยถนนทางหลวงและเครือข่ายถนนกว่า 35,000 กม. การปฏิรูประบบรถไฟเป็นรางกว้าง (Broad Gauge หรือขนาดรางมากกว่า 1.435 เมตรขึ้นไป) พร้อมพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย การเดินหน้าโครงการเครือข่ายระบบรถไฟฟ้าโดยตั้งเป้าให้มีระยะทาง 4,000 กม. และสานต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงเมืองมุมไบ–อาห์เมดาบัด (เมืองหลวงของรัฐมหาราษฎระและรัฐคุชราต ระยะทาง 530 กม.) พร้อมทั้งวางแผนสร้างและขยายท่าอากาศยานให้รองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น 5 เท่าโดยตั้งเป้ารองรับให้ได้ 1 พันล้านเที่ยวบินต่อปี เป็นต้น
(2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความมั่นคงในการป้องกันประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน โครงการที่สำคัญ เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ในภูมิภาคลาดักห์เพื่อรองรับการสัญจรได้ตลอดทั้งปี การก่อสร้างอุโมงค์ Sera Pass ในรัฐอรุณาจัลประเทศเพื่อการเดินทางและการท่องเที่ยว สานต่อโครงการ Smart Cities ที่ริเริ่มไปแล้ว 99 เมือง และการสร้างระบบการจ่ายน้ำสะอาดให้กว่า 500 เมือง เป็นต้น
(3) ส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ ด้วยการยกระดับ India Infrastructure Finance Corporation Limited (IIFCL) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนระยะยาวแก่โครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น
(4) พัฒนาศักยภาพธุรกรรมการเงินด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล เช่น พัฒนาศูนย์การให้บริการด้านการเงินนานาชาติ (International Financial Service Centre - IFSC) และให้เป็นหน่วยงานรวบรวมและจัดระเบียบกฎระเบียบธุรกรรมทางการเงินในอินเดีย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับหน่วยงานด้านการเงินจากต่างชาติ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่ม งปม. โครงการด้านดิจิตัล และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี Blockchain (ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียยังไม่อนุญาตการซื้อขายเงินดิจิตอล (Cryptocurrencies)
(5) ขยายโอกาสการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชนชนและพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตให้นำสมัย โดยติดตั้งจุดกระจายสัญญาน Wi-Fi กว่า 5 แสนจุดเพื่อให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคนเข้าถึง เปิดขยายการประมูลระบบโทรคมนาคม และริเริ่มการใช้เทคโนโลยี 5G โดยจะเริ่มทดลองใช้ที่เมืองเจนไน เป็นต้น
2.5 การพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะ
(1) พัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐให้สะดวกและเป็นมิตรต่อผู้ใช้บริการ เช่น ปฏิรูประบบการออมเงิน ระบบบำนาญ ให้ประชาชนเข้าใจและใช้บริการได้ง่าย และปฏิรูปการให้บริการของภาครัฐด้วยระบบเทคโนโลยีทันสมัย
(2) พัฒนาระบบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วยตนเอง โดยส่งเสริมการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศตามนโยบาย Make in India เพื่อรักษาสมดุลการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างชาติ โดยประกาศจะพัฒนาระเบียงการผลิตอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (defense industrial production corridors) สองแห่งและส่งเสริมให้นักลงทุนในประเทศทั้งรายย่อยและรายใหญ่ร่วมลงทุน
(3) ลดภาระทางการเงินของภาครัฐโดยการขายรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรได้น้อย โดยตั้งเป้าขายรัฐวิสาหกิจ 24 องค์กร รวมถึงธุรกิจ Air India
(4) นโยบายอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ทำระบบการซื้อ-ขายทองคำให้เป็นสินทรัพย์ที่มีกฏระเบียบมาตรฐาน ปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ ปธน. รอง ปธน. และผู้ว่าการรัฐ (Governors) เป็น 5 แสนรูปี 4 แสนรูปี และ 3.5 แสนรูปีต่อเดือน ตามลำดับ (ไม่มีการปรับค่าตอบแทนมาตั้งแต่ 1 ม.ค. ค.ศ. 2006) และกำหนดแผนงานโครงการฉลองครบรอบ 150 ปี วันเกิดของมหาตม คานธี โดยจัดสรร งปม. 1,500 ล้านรูปี เป็นต้น
2.6 ภาพรวมนโยบายทางภาษี
ได้รับคำชื่นชมว่าสามารถตอบสนองและบริหารความคาดหวังจากประชาชนได้ในทุกภาคส่วน โดยมีสาระสำคัญ คือ (1) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีมาจัดการสินค้าเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว (post-harvest activities) (2) ลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่จ้างลูกจ้างใหม่เพิ่มเติม (3) ปรับลดความซับซ้อนทางภาษีในการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ (4) ลดภาษีให้แก่ MSME ที่มีผลประกอบการน้อยกว่า 2.5 พันล้านรูปีในปี 2017 (5) ไม่ปรับเพิ่มภาษีจากผู้เสียภาษีตามเงินเดือน (Salaried Taxpayers) และอนุญาตให้นำค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาลไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 40,000 รูปี (6) ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายรับไม่เกิน 50,000 รูปี/เดือน และเพิ่มวงเงินการประกันสุขภาพและการรักษาพยาบาลให้สูงขึ้น (7) ให้สิทธิพิเศษทางภาษีให้แก่ผู้ดำเนินธุรกิจผ่าน Indian Financial System Code (IFSC) (8) สร้างมาตรการควบคุมเงินสดในระบบเศรษฐกิจ โดยจัดเก็บภาษีจากรายได้ของกลุ่ม Trusts และ institutions และไม่อนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวใช้จ่ายด้วยเงินสดเกินกว่า 10,000 รูปีต่อครั้ง (9) เก็บภาษีร้อยละ 10 จากผู้ที่ได้รับ long term captal gains เกิน 1 แสนรูปี/ปี จากเดิมที่ไม่เคยเก็บภาษี (10) เพิ่มภาษี Health and Education Cess เป็นร้อยละ 4 เพื่อเพิ่ม งปม. ส่งเสริมสุขภาพและการศึกษา (11) กำหนดให้จ่ายภาษีด้วยระบบออนไลน์ทั่วประเทศ และ (12) ปรับปรุง พรบ. ภาษีศุลกากร (ยังไม่แล้วเสร็จ) โดยเพิ่มภาษีศุลกากรในสินค้าบางประเภทเพื่อปกป้องสินค้าท้องถิ่นตามนโยบาย Make in India และลดภาษีศุลการกรสินค้าเกษตรบางส่วนเพื่อส่งเสริมธุรกิจการแปรรูปอาหารในประเทศ เป็นต้น
3. ข้อคิดเห็นจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
3.1 แม้ว่าด้านการศึกษา สุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม จะเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นล่าง แต่แนวคิดหลัก คือ การสร้างแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อสนองตอบการพัฒนาประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอนาคต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดียกล่าวย้ำหลักการ Ease of Doing Business จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนเมื่อคนอินเดียสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวก (Ease of Living) ทั้งนี้ โดยที่อินเดียจะเป็นประเทศที่มีแรงงานหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ย 30 ปี) จำนวน 400 ล้านคนภายในอีก 5 ปีข้างหน้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่อินเดียใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในอนาคต
3.2 จุดเด่นของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคการเงิน คือ ความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อการเชื่อมโยงภายในประเทศและการขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นแนวทางที่ชัดเจนของรัฐบาลอินเดียที่ให้ความสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต และพัฒนาไปสู่การเป็น New India ในปี ค.ศ. 2022 ทั้งนี้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอินเดียน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ปัจจุบัน มีบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซีเมนเตชั่น อินเดีย จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญแล้วหลายแห่ง อาทิ ท่าอากาศยานเมืองกัลกัตตา รถไฟใต้ดินกรุงนิวเดลี นครมุมไบ เป็นต้น
3.3 การนำเสนอแผน งปม. ในปีนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีโครงการใหม่ที่ดึงดูดความสนใจนัก แต่จุดเด่นคือความต่อเนื่องของนโยบายและการจัดสรรง งปม. เพื่อกระจายโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้นในทุกระดับ พร้อมเพิ่มศักยภาพและสานต่อโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพและเชื่อมต่อมากขึ้น ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่องนับเป็นจุดแข็งของอินเดียเพราะมีรัฐบาลที่เข้มแข็งทำให้สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง
3.4 โอกาสของไทยในห้วงเวลาปัจจุบันของอินเดีย
3.4.1 แม้อินเดียยังไม่น่าจะก้าวสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ เพราะมีปัจจัยข้อจำกัดหลายประการ เช่น การเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่ยังคงมีความแตกต่างในการบริหารภายในของแต่ละรัฐ และการดำเนินนโยบายของรัฐยังไม่อาจเป็นเนื้อเดียวกันกับรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธบทบาทและความสำคัญของอินเดียในปัจจุบันที่ทวีคูณในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างมากภายใต้รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งในเชิงบริหาร นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มหันมามองโอกาสในอินเดียมากยิ่งขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงควรเร่งผลักดัน และแนะนำให้นักธุรกิจไทยสนใจตลาดอินเดียเพื่อดำเนินแสวงหาโอกาสทางการลงทุนได้ทันท่วงที
3.4.2 รัฐบาลอินเดียมีแนวนโยบายให้อินเดียเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก การจัดสรรงบประมาณเพื่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจชนบท จึงสะท้อนการต้องการพัฒนาศักยภาพการอินเดียให้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกอาหารสดและอาหารแปรรูปที่สำคัญของโลกในอนาคต จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจร่วมกับอินเดีย รวมทั้งแผนการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหารและสินค้าการเกษตรอินเดียตั้งแต่ต้นเพื่อมีส่วนร่วมในสัดส่วนด้านการตลาดสินค้าอาหารสดและอาหารแปรรูปในโลก
3.4.3 นโยบายการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาจทำให้อินเดียสามารถพัฒนาการผลิตยุทโธปกรณ์ให้มีคุณภาพในราคาที่ไม่สูงเกินไป ซึ่งไทยอาจพิจารณาใช้เป็นตัวเลือกในการจัดซื้อได้ในอนาคต
3.4.4 โดยที่อินเดียกำลังพัฒนาไปสู่การมีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นนโยบายที่ไทยประสบความสำเร็จ ไทยจึงอาจพิจารณาแสดงความพร้อมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาดังกล่าวร่วมกับอินเดีย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
14 มีนาคม 2561