ไทยจะรับมืออย่างไร...หากอินเดียจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านสินค้าเกษตร
เดือนกุมภาพันธ์ 2561 อินเดียประกาศจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกโดยทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งปีถัดมา เดือนมกราคม 2562 อินเดียแถลงยุทธศาสตร์อินเดียใหม่ หรือ “New India” ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยี และเน้นปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตร และสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับสินค้าเกษตร โดยได้อนุมัติ “นโยบายการส่งออกสินค้าเกษตร” ที่ตั้งเป้าหมายให้อินเดียมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2565 และจะพัฒนาไปถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 2568
ความพยายามของอินเดียอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ทำให้ไทยควรหันมาสนใจ รู้เขารู้เรา และรู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป
ทำความรู้จักนโยบายการส่งออกสินค้าเกษตร
นโยบายการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นการประมวลข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาสินค้าเกษตรสำหรับการส่งออก โดยแบ่งเนื้อหาเป็นข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สมาคมผู้ประกอบการ และเกษตรกร และข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม
ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย (1) มาตรการด้านนโยบายที่มุ่งทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรอินเดียมีความสม่ำเสมอและน่าเชื่อถือ ไม่แปรผันตามความผันผวนของตลาดภายในประเทศ เน้นเปิดเสรีการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อส่งออก และมุ่งสร้างมาตรฐานราคาสินค้าเกษตรทั่วประเทศด้วยการปฏิรูปกลไกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกรัฐ (2) โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเกษตรแบบครบวงจร (3) สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน และ (4) ทำให้รัฐบาลระดับรัฐมีส่วนร่วมมากขึ้น เนื่องจากแต่ละรัฐต้องการการพัฒนาต่างกัน
ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย (1) การกำหนดแนวทางส่งเสริมการส่งออกตามหมวดหมู่สินค้า โดยได้แบ่งหมวดหมู่สินค้าที่มีศักยภาพเป็นรายรัฐไว้แล้ว และมีแนวทางการดำเนินงานที่น่าสนใจ อาทิ การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกและจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตร การยกระดับและรักษามาตรฐานสินค้าเกษตรทั่วประเทศให้พร้อมส่งออก และการจัดตั้ง Agri Export Zones (AEZs) ในรัฐต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเน้นส่งออกไปยังประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรแปรรูปในปริมาณมาก เป็นต้น (2) ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำสินค้าท้องถิ่นและสินค้าออร์แกนิกที่มีศักยภาพมาพัฒนาและแปรรูป และมุ่งทำให้อินเดียกลายเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรแบบครบวงจร เน้นการนำภูมิปัญญาด้านอยุรเวทมาสร้างจุดเด่น เป็นต้น (3) ส่งเสริม “Brand India” โดยสร้างความนิยมและความน่าเชื่อถือต่อสินค้าเกษตรของอินเดีย และวางแผนส่งออกอาหารอินเดียสำเร็จรูปไปยังตลาดอาหรับและอาเซียนซึ่งมีประชาชนเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่มาก (4) ดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการส่งออก นับตั้งแต่การแปรรูป การทำบรรจุภัณฑ์ การขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ การปรับปรุงระบบพิธีการส่งออกให้รวดเร็ว และ (5) ส่งเสริมการศึกษา พัฒนา และตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรอย่างสม่ำเสมอ
ไทยมองเห็นอะไรจากนโยบายนี้ และควรรับมืออย่างไร
(1) นโยบายนี้สะท้อนให้เห็นว่าอินเดียตระหนักถึงโอกาสมหาศาลจากการพัฒนาการเกษตรอย่างแท้จริง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับมาตรฐานสินค้าสด และเพิ่มมูลค่าสินค้าแปรรูป ซึ่งหากแนวนโยบายนี้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องย่อมจะสร้างอินเดียให้เป็นมหาอำนาจด้านสินค้าเกษตรได้ตามแผน
(2) ผลกระทบต่ออาเซียนและไทย อินเดียมองอาเซียนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการกำหนดนโยบาย โดยเห็นอาเซียนเป็นทั้งตัวอย่าง เป็นตลาด และเป็นคู่แข่ง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีคาดการณ์ว่า ผลกระทบเชิงบวกคือโอกาสด้านการลงทุนสำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและการแปรรูปอาหาร และโอกาสการส่งออกผักผลไม้ไปยังอินเดียมากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องจากการเปิดตลาดเพื่อนำเข้าวัตถุดิบของอินเดีย และการพัฒนาระบบพิธีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ port ผลกระทบเชิงลบคือในระยะยาวสินค้าเกษตรจำพวกผักผลไม้สดจากอินเดียอาจเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอาเซียนในตลาดเอเชียกลางและเอเชียใต้ (โชคดีที่ในเบื้องต้นอินเดียยังไม่ได้กำหนดให้ข้าว น้ำตาล ยางพาราเป็นกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสำหรับเน้นส่งเสริมการส่งออก)
(3) บทเรียนต่อไทย พัฒนาการของอินเดียครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยควรเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการเกษตรให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าและแปรรูปสินค้าให้หลากหลาย มากกว่าการผลิตสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐาน หรือสินค้าที่เพิ่มมูลค่าเพียงเล็กน้อยเพื่อการส่งออก เพราะในระยะยาวหากอินเดียสามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปได้จริง ไทยย่อมสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก และอาจกลายเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นเพื่อส่งให้อินเดียและประเทศอื่น ๆ ใช้แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและ re-export ต่อเท่านั้น
ไทยไม่สามารถละเลยความก้าวหน้าของอินเดียในทุกมิติ เพราะหากช้าไป นอกจากจะฉกฉวยโอกาสในอินเดียไม่ทันแล้ว ยังอาจถูกอินเดียวิ่งแซงหน้าโดยไม่รู้ตัว
ดาวน์โหลดนโยบายฉบับเต็มได้ที่
https://commerce.gov.in/writereaddata/uploadedfile/MOC_636802088572767848_AGRI_EXPORT_POLICY.pdf
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
4 เมษายน 2562