เกาะติดโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเจนไน (Chennai Metrorail)
เมืองเจนไนเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับสี่ของอินเดีย มีประชากรประมาณ ๘ ล้านคน และประสบกับปัญหาการจราจรอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางมากขึ้นและรองรับการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้าและใต้ดินของเมืองเจนไน

โครงการ Chennai Metrorail เฟสแรก จะประกอบด้วยการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน ๒ สาย ระยะทางรวม ๔๕ ก.ม. สายแรก (Corridor I) มีระยะทางทั้งสิ้น ๒๓ ก.ม. เริ่มจากสถานี Washermanpet ไปยังท่าอากาศยานเมืองเจนไน ผ่านถนน Anna Salai โดยเป็นเส้นทางใต้ดิน ๑๔.๓ ก.ม. และเส้นทางยกระดับ ๘.๘ ก.ม นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติเพิ่มเติมให้มีการก่อสร้างส่วนขยายของสายแรกซึ่งมีระยะทาง ๙ ก.ม. เริ่มจากสถานี Wimco Nagar ไปยังสถานี Washermanpet ด้วย
ส่วนสายที่สอง (Corridor II) มีระยะทางทั้งสิ้น ๒๒ ก.ม. ระหว่างสถานี Chennai Central ไปยังสถานี St Thomas Mount โดยเส้นทางทั้งสองช่วงจะมีจุดเชื่อมต่อกันที่สถานี Chennai Fort โดยเส้นทางที่สองนี้ มีการก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ๙.๗ ก.ม. และเส้นทางยกระดับ ๑๒.๓ ก.ม
สรุปย่อๆ ว่า เส้นทางรถไฟของโครงการ Chennai Metrorail ร้อยละ ๕๗ เป็นโครงสร้างทางยกระดับ ส่วนที่เหลือเป็นเส้นทางใต้ดิน และเป็นรถไฟทางคู่ โดยการที่มีโครงสร้างทางแบบยกระดับได้ช่วยลดต้นทุน การก่อสร้างลงไปได้กว่า ๑ ใน ๓ ของค่าก่อสร้างโครงสร้างเส้นทางใต้ดิน
โครงการก่อสร้าง Chennai Metrorail เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๕๒ และคาดว่าเส้นทางระหว่างสถานี Koyambedu กับสถานี Ashok Nagar ของสาย Corridor II จะสร้างเสร็จในเดือน ก.พ. ๒๕๕๘ โดยจะสามารถเดินรถระหว่างสถานี Koyambedu กับสถานี Alandur ได้ในเดือน มี.ค. ๒๕๕๘
ในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างเส้นทางเฟสแรก ๔๕ ก.ม ของ Chennai Metrorail นั้น ในชั้นต้น คาดว่า จะอยู่ที่ราว ๑๔๖ พันล้านรูปี หรือ ๒.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ประมาณการล่าสุดคาดว่า ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๒๓ โดยอยู่ที่ ๑๘๐ พันล้านรูปี หรือ ๒.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของการขุดอุโมงค์เพื่อสร้างทางรถไฟใต้ดินนั้น ได้มีการนำเข้าเครื่องเจาะอุโมงค์ใต้ดิน (Tunnel Boring Machines) รวม ๘ เครื่อง จากบริษัทเยอรมัน Herrenknecht รวมทั้งยังนำเข้าจากจีน ๒ เครื่อง และจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ประเทศละเครื่อง โดยมีค่าใช้จ่าย ก.ม. ละ ๓ พันล้านรูปี

บริษัทจากต่างชาติที่ได้รับสัมปทานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Chennai Metrorail มีหลายบริษัท เช่น บริษัท Egis Rail SA จากฝรั่งเศส ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ให้คำปรึกษาโครงการ บริษัท L&T กับ Alstom ของฝรั่งเศสได้รับประมูลงานด้านการออกแบบและก่อสร้าง บริษัทร่วมทุนของ SJEC Corporation ของจีน ได้รับสัมปทานการจัดหาลิฟท์และบันไดเลื่อน และบริษัท Siemens AG และ Siemens India ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการด้านระบบไฟฟ้าของโครงการ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้โครงข่ายการให้บริการสาธารณะทางรางมีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุด รัฐบาลทมิฬนาฑูได้อนุมัติหลักการให้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล เฟสแรก ขึ้นด้วย ระยะทาง ๒๐.๖๘ ก.ม. ในเส้นทาง Poonamalle และ Kathipara โดยใช้งบประมาณ ๓ หมื่นล้านรูปี โดยคาดว่าจะเริ่มทำการก่อสร้างได้ในปี ๒๕๕๘ ด้วย
เชื่อว่า โครงการก่อสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้าและใต้ดินของเมืองเจนไน (Chennai Metrorail) และโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลของเมืองเจนไนเมื่อสร้างเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีส่วนช่วยลดปัญหาจราจรในเขตเมืองเจนไนไปได้มาก และจะสามารถรองรับประชากรที่เดินทางไปมาวันละหลายล้านคน พร้อมๆ ไปกับการขยายตัวของเมืองออกไปสู่ชานเมืองเจนไนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
***********************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน