Manufacturing Summit ครั้งที่ 13: Make in India แค่ขายฝันหรือความเป็นจริง
เอกชนอินเดียรวมตัวระดมสมองหารือเกี่ยวกับบทบาทของเอกชนและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลโมดีในการทำนโยบาย Make in India ให้เป็นความจริง ชี้ต้องตั้งเป้าให้ชัดและขจัดอุปสรรคภายใน

งานดังกล่าวมีผู้แทนเอกชนอินเดียเข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีมีวิทยากรจำนวน 27 คน บรรยายใน 4 หัวข้อสำคัญ ดังนี้
1. Make in India – Redefining the Manufacturing Opportunity
ที่ประชุมสะท้อนให้เห็นว่า การจะทำให้นโยบาย Make in India เป็นความจริงยังมีหนทางอีกยาวไกล เพราะแม้ปัจจุบันร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกของอินเดียมาจากอุตสาหกรรมการผลิต และคิดเป็นร้อยละ 15 ของ GDP แต่มีอัตราการเจริญเติบโตเพียงร้อยละ 2.3 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั้งชาวอินเดียเองและชาวต่างชาติเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศอื่นมากกว่าอินเดีย แม้ว่าอินเดียจะเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีต้นทุนในการตั้งโรงงานที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่การทำธุรกิจในอินเดียยังเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันอินเดียอยู่ที่อันดับ 152 ของโลกสำหรับ Ease of Doing Business
ถึงแม้อินเดียจะมีความตั้งใจจริงในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก แต่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอินเดียจะต้องร่วมมือกันให้มากกว่านี้เพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุเป้าหมายได้ โดย Boston Consulting Group (BCG) ได้จัดทำรายงานเพื่อให้นโยบาย Make in India ประสบความสำเร็จได้จริง โดยเน้นการดำเนินการ 3 ขั้นตอน
1) การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิต โดยการดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้สำเร็จจริง โดยเฉพาะระเบียงอุตสาหกรรมต่าง ๆ และ World Class Townships และการปฏิรูป กม. แรงงาน เพื่อให้มีการจ้างงานง่ายขึ้น และเกิด incentives แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต
2) สร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยดึงดูดนักลงทุนจาก ตปท. เข้ามาลงทุนในอินเดียเพื่อใช้อินเดียเป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย
3) การก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก โดยภาคเอกชนจะต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการประกอบธุรกิจและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอินเดียเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่นิยม
2. Digital Impact in Manufacturing
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตให้มากขึ้นและเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคของ Intelligence ซึ่งเครื่องจักรกลสามารถคิด เข้าใจและสื่อสารระหว่างกันได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ (Machine to machine communication) และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะในขั้นตอนของการผลิตเท่านั้น แต่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่การออกแบบจนถึงการให้บริการหลังการขาย โดยบางบริษัทสามารถประหยัดต้นทุนการตั้งโรงงานได้ถึงร้อยละ 30 เนื่องจากใช้บริการการออกแบบโรงงาน 3 มิติ และสามารถจำลอง test run โรงงานได้ก่อนเริ่มการสร้าง รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบคุณภาพและความทนทานของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
นักธุรกิจของอินเดียเห็นว่า ผู้บริโภคมีความคาดหวังใหม่ ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จะต้อง smart และ connected (มีเทคโนโลยีร่วมสมัยและเชื่อมต่อกับ Internet ได้) ซึ่งเว็บไซต์ค้าปลีกอย่าง flipkart.com ก็อาศัย software เพื่อศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า เพื่อที่จะสามารถให้บริการได้ตรงต่อความต้องการและความสนใจของลูกค้า
การที่อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตได้ อินเดียจะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะใน emerging science อาทิ Genomics, Artificial Intelligence, Connectomics, Chaos Theory, Cloud Computing, Nano materials และจะต้องมีศักยภาพและทรัพยากรเพียงพอในการผลิตและมีเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม โดยนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ พลังงานทดแทนที่มีราคาสมเหตุสมผล ทรัพยากรน้ำ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่งและ healthcare
3. Make in India Conundrum: Solving the Manufacturing Puzzle
การที่จะพัฒนาให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกอย่างแท้จริงและอย่างยั่งยืนได้ รัฐบาลจะต้องทำให้การประกอบธุรกิจที่อินเดียกลายเป็นเรื่องง่ายและได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าในการลงทุน และจะต้องเปลี่ยนแนวคิดที่มุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณโรงงานเพื่อเพิ่มการจ้างงานเท่านั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อรองรับการผลิต จึงจะสามารถมีอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนได้ ซึ่งบริษัทเอกชนควรจัดสรรงบประมาณเพื่อค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่กิจการของตนด้วย
ปัจจุบัน หลายรัฐในอินเดียได้เร่งแก้ไขกฎระเบียบภายในเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่าง ๆ และกฎหมายแรงงาน เพื่อดึงดูดการลงทุนของนักธุรกิจอินเดียเองและจากต่างประเทศ กลไกของการแข่งขันในเรื่องกฎระเบียบดังกล่าวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจและลงทุนในอินเดียได้ง่ายขึ้น
รัฐบาลควรเลี่ยงการออกนโยบายที่จะสนับสนุนให้เงิน Incentives ในการตั้งโรงงานใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานระดับโลกมากกว่า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภาคผลิตในภาพรวมทั้งโรงงานที่เปิดทำการอยู่แล้วและโรงงานที่จะตั้งใหม่
4. Talent Challenge – Making Manufacturing Glamorous
ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งของอินเดีย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
4.1 บริษัท โดยเฉพาะบริษัท SME ไม่ค่อยเต็มใจลงทุนกับการจัดอบรมพนักงานให้มีทักษะที่เหมาะสมในการทำงาน ซึ่งร้อยละ 90 ของนักศึกษาที่จบใหม่ล้วนต้องการการอบรมก่อนที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อได้รับการอบรมเพิ่มทักษะแล้ว พนักงานก็อาจได้รับข้อเสนอจากบริษัทอื่นให้ไปทำงานโดยได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า บริษัทที่ลงทุนในการจัดอบรมก็จะเสียทั้งพนักงาน เวลาและงบประมาณ
4.2 ปัญหาภาพลักษณ์ของงานในอุตสาหกรรมการผลิตว่าเป็นงานที่น่าเบื่อ ไม่ท้าทาย เวลาทำงานไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ขณะเวลาทำงาน ไม่สร้างสรรค์ ได้รับเงินตอบแทนต่ำ เจริญเติบโตในหน้าที่การงานช้า
นักธุรกิจอินเดียเห็นว่า อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยการสร้างความภูมิใจให้แก่พนักงานว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก และบริษัทต้องรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเพื่อปรับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้น่าอยู่มากขึ้น รวมทั้ง ต้องมีการวาง career path ที่ชัดเจนให้แก่พนักงาน อีกทั้งยังสามารถจัดกิจกรรมให้เยาวชนหรือผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมโรงงานเพื่อศึกษาขั้นตอนการผลิต และใช้ social media เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเข้าถึงเยาวชนด้วย
ในที่สุดแล้ว แม้นโยบาย Make in India ของนายกฯ โมดีจะฟังดูสวยหรู ทำให้ทั้งประเทศมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เอกชนอินเดีย ซึ่งเป็นแกนสำคัญของนโยบายดังกล่าวยังเห็นว่า มีงานอีกมากที่อินเดียต้องทำเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ช่องว่างต่างๆ ที่เอกชนอินเดียได้ชี้ไว้อาจจะหมายถึงช่องว่างสำหรับเอกชนไทยที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็ม คงไม่เสียหลายที่เราจะคอยติดตามผลที่เป็นรูปธรรมของข้อเสนอแนะของเอกชนอินเดียในงานนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
20 พฤศจิกายน 2557